วันอังคารที่ 24 มกราคม 2566 เวลา 09.00 น.
สถานีพัฒนาที่ดินราชบุรี จัดงาน "ไถกลบแทนเผา บรรเทามลพิษ พิชิตหมอกควัน" Kick Off จังหวัดราชบุรี เพื่อหยุดยั้งปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการเผาวัสดุทางการเกษตร ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน
ณ แปลงใหญ่ข้าว หมู่ที่ 2 บ้านเด่น ตำบลกรับใหญ่ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยมีนางสาวรัตนา เสาวนียากร เกษตรและสหกรณ์จังหวัดราชบุรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมด้วย นายธรรมรัตน์ วงษ์พิทักษ์โรจน์ นายกเทศมนตรีตำบลกรับใหญ่ หัวหน้าส่วนราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนอำเภอบ้านโป่ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หมอดินอาสา เกษตรกร ร่วมในพิธี จำนวน 120 คน นายสะอาด บุตรเล็ก ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดิน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ จากนั้นประธานกดปุ่ม เปิดโดรนฉีดพ่นน้ำหมักในแปลง เตรียมไถกลบ และมอบตะกร้าเมล็ดปอเทืองให้กับหัวหน้าส่วนราชการ และผู้เข้าร่วมงาน จากนั้นประธานและผู้ร่วมงานรับชมการถ่ายทอดสดพิธีเปิดงานจากจังหวัดเชียงใหม่ โดยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้กล่าวเปิดงาน ต่อจากนั้นประธานและหัวหน้าส่วนราชการและผู้ร่วมงาน ประจำจุดเปิดขบวนรถไถกลบ ตอซัง และร่วมหว่านปอเทืองลงในแปลงไถกลบ ตอซัง รถฉีดพ่นน้ำลงในแปลง เป็นอันเสร็จพิธี
กรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานหนึ่งซึ่งส่งเสริมให้เกษตรกรลด ละเลิก การเผาเศษวัสดุทางการเกษตร จึงได้จัดงาน "ไถกลบแทนเผา บรรเทามลพิษ พิชิตหมอกควัน" ประจำปีงบประมาณ 2566 ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความตระหนักให้เกษตรกร ทำเกษตรกรรมที่ไม่เผาฟางและตอซังพืช ช่วยให้คุณสมบัติของดินดีไม่ถูกทำลาย เพิ่มอินทรีย์วัตถุในดินและสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน รวมทั้งยังช่วยลดปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง และลดผลกระทบต่อการเกิดภาวะโลกร้อน การจัดงานในครั้งนี้ดำเนินการพร้อมกัน 56 จังหวัดทั่วประเทศ ที่มีพื้นที่เกษตรกรรมที่มีความเสี่ยง ต่อการเกิดการเผา (Hot Spot) โดยมีศูนย์กลางการจัดงาน ณ จังหวัดเชียงใหม่ และถ่ายทอดสดไปยังพื้นที่จัดงาน 56 แห่ง ผ่านระบบ Zoom comference Meeting และ Facebook live ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ เป้าหมายพื้นที่ดำเนินการ 10 ไร่ ซึ่งจะจัดทำเป็นแปลงสาธิต และเก็บข้อมูลเพื่อขยายผลต่อไป ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการความรู้การจัดการดินและการใช้ประโยชน์จากตอซังและเศษพืช พร้อมแจกจ่ายน้ำหมักชีวภาพ สารเร่ง พด.และเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ย(ปอเทือง) ให้กับผู้ร่วมงานอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการภายในพื้นที่อำเภอต่างๆ ของจังหวัดราชบุรี อีกจำนวน 50 ไร่ ตามเป้าหมายอีกด้วย